top of page

การกราบ

การกราบ (อภิวาท) เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง มี ๒ แบบ คือ

๑ การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์

๒ การกราบผู้ใหญ่ 

การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์

ท่าเตรียม

     ชาย นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าตั้ง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า เข่าทั้งสองห่างกันพอประมาณ มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขา ทั้งสองข้างนิ้วนิวชิดกัน (ท่าเทพบุตร)                             หญิง นั่งคุกเข่าตัวตรง ปลายเท้าราบ เข่าถึงปลายเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขาทั้งสองข้างนิ้วชิดกัน (ท่าเทพธิดา)

ท่ากราบ

     จังหวะที่ ๑ (อัญชลี) ยกมือขึ้นประนมระหว่างอก ปลายนิ้วชิดกันตั้งขึ้นแนบตัวไม่กางศอก

     จังหวะที่ ๒ (วันทนา) ยกมือขึ้น พร้อมกับก้มศีรษะ โดยให้ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก

     จังหวะที่ ๓ (อภิวาท) ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกัน มือคว่ำห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้

      ชาย ให้กางศอกทั้งสองข้างลง ต่อจากเข่าขนานไปกับพื้น หลังไม่โก่ง

      หญิง ให้ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย

      ทำสามจังหวะให้ครบสามครั้ง แล้วยกมือขึ้นจบโดยให้ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง การกราบไม่ควรให้ช้าหรือเร็วเกินไป

การกราบผู้ใหญ่

กราบผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสรวมทั้งผู้มีพระคุณ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ ผู้กราบทั้งชายและหญิงนั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกันให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้นไม่แบมือ ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ในขณะกราบไม่กระดกนิ้วมือขึ้นรับหน้าผาก กราบเพียงครั้งเดียว จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถโดยการนั่งสำรวมประสานมือ 

bottom of page